เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 4.มหาวรรค 4.คาวีอุปมาสูตร
เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘ทางที่ดี เราควรล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
โดยประการทั้งปวง บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่’ เธอไม่ติดใจสัญญาเวทยิตนิโรธ
ล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด สมาบัตินั้น ๆ แล ภิกษุเข้าก็ได้ ออกก็ได้ เมื่อนั้น
จิตของเธอย่อมอ่อน เหมาะแก่การใช้งาน1 ด้วยจิตที่อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน
เธอจึงเจริญอัปปมาณสมาธิ2 ด้วยอัปปมาณสมาธิที่เจริญดีแล้ว เธอจึงน้อมจิตไป
เพื่อทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งใดๆ
เมื่อมีเหตุ3 เธอย่อมบรรลุความเป็นผู้เหมาะสมที่จะประจักษ์ชัดในธรรมนั้น ๆ
ถ้าภิกษุนั้นหวังว่า ‘เราพึงแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวแสดงเป็น
หลายคนก็ได้ หลายคนแสดงเป็นคนเดียวก็ได้ ฯลฯ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึง
พรหมโลกก็ได้’ เมื่อมีเหตุ เธอย่อมบรรลุความเป็นผู้เหมาะสมที่จะประจักษ์ชัดใน
ธรรมนั้น ๆ
ถ้าภิกษุนั้นหวังว่า ‘เราพึงได้ยินเสียง 2 ชนิด คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์
ทั้งที่อยู่ไกลและอยู่ใกล้ ด้วยหูทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์’ เมื่อมีเหตุ เธอย่อม
บรรลุความเป็นผู้เหมาะสมที่จะประจักษ์ชัดในธรรมนั้น ๆ
ถ้าภิกษุนั้นหวังว่า ‘เราพึงกำหนดรู้จิตของสัตว์และบุคคลอื่นได้ด้วยจิตของตน
คือ จิตมีราคะ ก็รู้ว่า มีราคะ หรือปราศจากราคะ ก็รู้ว่า ปราศจากราคะ จิตมีโทสะ
ก็รู้ว่า มีโทสะ หรือปราศจากโทสะ ก็รู้ว่า ปราศจากโทสะ จิตมีโมหะ ก็รู้ว่า มีโมหะ

เชิงอรรถ :
1 เหมาะแก่การใช้งาน ในที่นี้หมายถึงจิตอยู่ในระดับฌานที่ 4 ที่เป็นบาทแห่งอภิญญา (องฺ.นวก.อ. 3/35/308)
2 อัปปมาณสมาธิ หมายถึงสมาธิในพรหมวิหาร 4 บ้าง หมายถึงมัคคสมาธิและผลสมาธิบ้าง แต่ในที่นี้
หมายถึงสมาธิที่ชำนาญคล่องแคล่วในอารมณ์สมถกัมมัฏฐานที่ได้ขยายให้กว้างใหญ่ไพบูลย์ (องฺ.นวก.อ.
3/35/308, องฺ.อฏฺฐก.ฏีกา 3/61-65/304)
3 เมื่อมีเหตุ แปลจากบาลีว่า สติ อายตเน (เมื่อมีเหตุแห่งสติ) หมายถึงฌานที่เป็นบาท (เครื่องบรรลุ) กล่าว
คือบุพเหตุแห่งอภิญญาบ้าง หมายถึงอรหัตตผลที่เป็นเหตุแห่งอภิญญา 6 ประการบ้าง หมายถึง
วิปัสสนาที่เป็นเหตุแห่งอรหัตตผลบ้าง แต่ในที่นี้หมายถึงเหตุคืออุปนิสสัยแห่งการบรรลุคุณวิเศษนั้น ๆ
(องฺ.ติก.อ. 2/102/255, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา 3/71-74/175)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :506 }